Short Film

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คู่มือทำหนังสั้น ฉบับกันเอง (ตอนที่ 1)

เชื่อ ว่าหลายๆ คนคงจะรู้จัก “หนังสั้น” กันเป็นอย่างดี แต่บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่า หากวันหนึ่งนั่งเล่นนอนเล่นแล้วอยู่ดีๆ อยากทำหนังสั้นขึ้นมาสักเรื่องแล้วล่ะก็ จะต้องเริ่มต้นอย่างไร

ก่อน อื่นต้องขอบอกก่อนว่า นี่ไม่ใช่ตำราที่เต็มเปี่ยมอัดแน่นไปด้วยข้อมูลเชิงวิชาการ แต่เป็นการแบ่งปันประสบการณ์การทำหนังสั้น จากตัวผมเองซึ่งก็เคยผ่านและเป็นพยาน ในฐานะของผู้ร่วมออกกองของการทำหนังสั้นทุกรูปแบบ ตั้งแต่แบบคนไม่มีตังค์เลยสักแดงเดียว ไปจนถึงการถ่ายทำกล้องฟิล์ม 35 มม. ด้วยอุปกรณ์ชั้นเลิศ ไม่ว่าผู้กำกับจะเป็นชายหนุ่มไฟแรง หรือหญิงสาวที่จิตใจเริ่มสงบนิ่ง เป็นการเล่าสู่กันฟังถึงเรื่องราวต่างๆ ที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่คนที่ได้อ่านบ้าง ว่ากว่าจะทำหนังสั้นออกมาได้เรื่องหนึ่งนั้น จะต้องนำเอาอะไรมาประกอบรวมกันบ้าง ข้อจำกัดและทุนรอนที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน จะทำให้สามารถสร้างหนังสั้น “ได้ใกล้เคียง” หรือ “ใช่” ในแบบที่อยากทำได้มากน้อยแค่ไหน หากเปรียบสิ่งนี้เป็นการขี่จักรยานครั้งแรกของคุณ คู่มือฉบับนี้ก็เป็นเหมือนคนที่จะคอยพยุงจนกว่าที่คุณจะสามารถขี่เองได้ อย่างมั่นคง

เพื่อที่ต่อไปในวันข้างหน้า คุณจะสามารถเริ่มออกแรงขี่จักรยาน โดยไม่ต้องพึ่งพาใครอีกต่อไป

คำนิยามของ “หนังสั้น”
หนัง สั้นก็มีจุดกำเนิดพร้อมกันกับหนังโรงที่เราดูกันเป็นปรกติทุกวันนี้แหละครับ หนังเรื่องแรกของโลก เมื่อคนยุคสมัย 100 กว่าปีก่อนได้เข้าไปในสถานที่แห่งหนึ่ง และได้เห็นภาพที่ตัวเองไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือรถไฟค่อยๆ จอดเทียบชานชาลา พวกเขาเชื่อว่าตนเองเกือบจะโดนรถไฟชนซะแล้ว! นั้นแหละครับคือจุดเริ่มต้นของคำว่า “ภาพยนตร์” หนึ่งในมหรสพที่คนทุกผู้ทุกนามไม่อาจจะปฎิเสธได้ในวันนี้

แล้วหนัง สั้นคืออะไร? ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดิน หนังสั้นก็คือหนังที่ไม่ยาว ผมเชื่อว่าหากใครตอบแบบนี้ก็ไม่น่าจะผิด แม้แต่หนังเรื่องแรกของโลกที่ผมได้กล่าวถึงไป ก็เป็นหนังสั้น มันมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ดำเนินและจบลงอย่างรวดเร็ว หนังสั้นทั้งหมดมักจะมีเรื่องราวหลักเพียงเรื่องเดียว

ถ้าเป็นไปใน นิยามโดยคนยุคนี้ ก็มักจะกำหนดให้หนังสั้นยาวไม่เกิน 30 หรือ 40 นาที เพราะเชื่อว่าเป็นความยาวที่พอเหมาะ แต่ถ้าหากสงสัยว่าแล้วหนังสั้นจะ “สั้น” ได้มากที่สุดเท่าไหร่ เพราะบางคนเชื่อว่าหนังสั้นที่สุดอย่างน้อยก็ควรยาวกว่า 15 วินาที แต่เชื่อไหมว่า คุณสุรพงษ์ พินิจค้า เคยทำหนังที่มีความยาวเพียง 4 เฟรมมาแล้ว คำถามต่อมาก็คือ แล้วจะดูรู้เรื่องไหมนั่น? ไม่มีกติการตายตัวว่าหนังสั้นจะต้องดูแล้วรู้เรื่องหรือเปล่า เพราะ เล่าเรื่องในลักษณะใดก็ได้ ทำได้แม้กระทั่งเป็นเพียง Concept หรือบอกอะไรบางอย่างให้แก่คนดูโดยที่คนดูก็ไปคิดไปตีความกันเอาเอง

ถ้า พูดถึงหนังสั้นในบ้านเรา แนวทางที่นิยมสร้างกันก็ไม่ได้มีหลากหลายอะไร เช่น โรแมนติก (นักศึกษาภาพยนตร์ดูเหมือนจะชอบทำแนวนี้มากที่สุด น่าจะเพราะได้อิทธิพลจากหนังรักเกาหลี),สยองขวัญ,ตลก,แอ็คชั่น และหนังทดลอง หนังที่เป็นการลองนำเสนอภาพและเสียงด้วยวิธีการใหม่ๆ เพื่อดูว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แต่สำหรับหนังทดลองแล้ว ลำพังแค่เอากล้องไปถ่ายเหวี่ยงๆ แปลกๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นหนังทดลองแล้ว แต่คนทำจะต้องรู้ด้วยว่ากำลังพยายามทำอะไร หรือกำลังพยายามทดลองอะไรอยู่
สำหรับ มือใหม่ที่อยากทำหนังสั้น ผมขอแนะนำให้เริ่มต้นจากการทำหนังสองแบบ คือหนึ่ง หนังเล่าเรื่องปรกติที่เล่าเรื่องง่ายๆ และสองคือ หนังสารคดี แต่ด้วยเหตุผลอะไรนั้น ก็ต้องติดตามจากบทต่อไปครับ



กระบวนการคิดให้เป็นเรื่อง
การ คิดเรื่องมันไม่ยากหรอกครับ ก่อนอื่นอยากให้เริ่มต้นด้วยการเขียนโครงเรื่องสักหนึ่งหน้ากระดาษก่อน เล่าว่าในหนังสั้นที่เรากำลังจะทำนี้ มีเหตุการณ์อะไรบ้าง ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ แบ่งเป็นฉากๆ ก็ได้ครับ ฉากที่ 1 ไปจนกระทั่งกี่ฉากก็ว่าไป แต่ล่ะฉากก็ให้มีการเดินเรื่องไปข้างหน้าตลอดไม่ย่ำตัวเองอยู่กับที่ แต่ก่อนที่จะเริ่มคิดและเขียนเรื่องขึ้นมา ก็อยากจะให้ทุกคนทราบถึงหลักของการเล่าเรื่องเสียก่อน

หลักง่ายๆ ของการเริ่มต้นอยากจะเล่าเรื่องอะไรสักอย่างให้แก่คนทั่วๆ ไปได้รับรู้กันนั้น จริงๆ แล้วไม่ว่าหนัง,ละคร,นิทาน หรือนวนิยาย ต้นกำเนิดของเรื่องเล่ารูปแบบต่างๆ เหล่านี้มีไม่มากนัก

1.เล่าเพราะ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เช่น นาย ก.เดินทางไปในป่าเพื่อล่าสัตว์ และพบสิงโตตัวหนึ่งกำลังไล่ล่ากวาง ในระหว่างที่นาย ก. กำลังมองดูเหตุการณ์นี้ จู่ๆ สิงโตก็หันไปเห็นนาย ก.และวิ่งไล่ใส่นาย ก.แทน ฝ่ายนาย ก. เมื่อเห็นดังนั้นก็เลยรีบวิ่งโกยไม่คิดชีวิต เมื่อเขารอดมาได้ ไม่ว่าเจอหน้าใครเขาก็อดไม่ได้ที่จะเล่าเรื่องนี้ให้แก่คนผู้นั้นฟัง เรื่องเล่าประเภทนี้ ผู้เล่ามักจะมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องที่ตนเองเล่าไปด้วยเป็นอย่างมาก พูดง่ายๆ ก็คือมี “ประสบการณ์ร่วม” หรือใกล้ชิดกับเรื่องราวหรือเหตุการณ์นั้นๆ อย่างแท้จริง

2.เล่าเพราะเห็นเจอมา แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัว เช่น นาย ข. ขึ้นรถเมล์ที่เบียดเสียด แล้วได้ไปเจอผู้ชายลุกให้เด็กนั่ง มันเป็นเหตุการณ์อันน่าประทับใจจนเขาต้องเล่าให้เพื่อนของเขาฟัง เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่กระทบความรู้สึกของคนเล่ามากเท่ากับเรื่องแบบ แรก แต่ก็เป็นเรื่องที่โดนใจเขาได้หากลึกๆ แล้วมันเป็นประเด็นที่เขาอ่อนไหว เช่น นาย ข.โดยปรกติแล้วชอบช่วยเหลือคนที่อ่อนแอ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงสร้างความรู้สึกแก่เขา

3.เล่าเพราะจินตนาการ พูดง่ายๆ ก็คือเรื่องแต่งแบบ 100 เปอร์เซ็นต์เต็มน่ะแหละครับ อย่างพ่อที่เล่านิทานที่แต่งขึ้นมาเดี๋ยวนั้นให้ลูกฟังก่อนนอน เรื่องแบบนี้จะมีประสบการณ์ร่วมหรือรู้สึกไปกับเหตุการณ์น้อยกว่าเรื่องแบบ ที่สอง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าด้อยค่าไปกว่ากันเลย เพราะว่าเรื่องเล่าแบบนี้สามารถสร้างความอยากติดตามให้แก่ผู้ฟังได้ หากตัวคนเล่าเองเปิดใจเชื่อในสิ่งที่ตัวเองกำลังเล่าอยู่แบบหมดเปลือก

4.เล่า เพราะจำเป็นจะต้องเล่า แบบเด็กนักเรียนที่ต้องไปยืนพูดหน้าชั้นเรียน แล้วเล่าเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ก็จะเล่าแบบสะดุดเป็นห้วงๆ และไม่น่าสนใจไม่น่าติดตาม เรื่องเล่าแบบนี้หมดสิ้นทั้งความเชื่อในสิ่งที่กำลังเล่าอยู่ของตัวผู้เล่า เอง และความมีอารมณ์ร่วมหรือรู้สึกตามไปกับเรื่องที่เล่านั้นๆ



จะ เห็นได้ว่าจากหัวข้อที่ผมยกขึ้นมาข้างต้น ผมได้เน้นคำว่า “ประสบการณ์ร่วม” และ “ความเชื่อ” มากเป็นพิเศษ เพราะผมเชื่อว่านี่แหละครับ สองสิ่งนี้แหละคือหัวใจสำคัญของการสร้างงานศิลปะใดๆ ก็ตามบนโลกให้ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ แม้กระทั่งสำหรับหนังสั้นก็ตาม แต่ผมอยากจะให้ก่อนเริ่มต้นที่จะคิดเรื่องเพื่อจะทำหนังสั้นสักเรื่อง สำหรับมือใหม่หัดทำ ควรจะเริ่มต้นด้วย “ประสบการณ์ร่วม” กับเรื่องก่อน หมายถึงว่าเขารู้สึกพิเศษหรือใกล้ชิดกับเรื่องที่กำลังเล่า คือในรูปแบบการเล่าเรื่องจะต้องอยู่ระหว่างข้อ 1 หรือ 2 ก่อน

เพราะ การเริ่มด้วยเรื่องที่ตัวเองรู้จัก เข้าใจ และมีจดจำรายละเอียดหรือข้อเท็จจริงที่น่าสนใจนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น หากคุณเป็นคนที่มีปมปัญหากับพี่หรือน้อง ทะเลาะกันด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ คุณก็อาจจะได้งานน่าสนใจสุดๆ จากการนำเรื่องเหล่านั้นมาเล่าผ่านหนังของคุณ หรือหากคุณเป็นพนักงานออฟฟิตที่โดนเจ้านายกดขี่และเป็นทุกข์ด้วยปัญหาต่างๆ คุณก็สามารถนำเอาเหตุการณ์นั้นๆ มาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นชั้นดีในการทำหนังของคุณ

แต่มันก็ยังเป็นแค่ “องค์ประกอบหนึ่ง” เท่านั้นนะครับ เพราะอีกองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการเริ่มคิดเรื่องก็คือคุณจะต้องมี “ความเชื่อ” เป็นอย่างยิ่งกับเรื่องที่คุณจะเล่า แม้ว่าหากเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับคุณ แต่ถ้าคุณไม่มีความเชื่อในการที่จะถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างน่าสนใจ มันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทำหนังเรื่องนั้นๆ ขึ้นมา ความเชื่อที่ว่านั้นก็คือ เชื่อว่าเรื่องที่คุณคิดนั้นจะต้องมีพลังออกมาและส่งผลไปยังความรู้สึกนึก คิดของคน (โปรดติดตามตอนต่อไป)
_________________

ข้อมูลจาก www.thaishortfilm.com

Comment