คู่มือทำหนังสั้น ฉบับกันเอง (ตอนที่ 2)
.....ความ เชื่อที่ว่านั้นก็คือ เชื่อว่าเรื่องที่คุณคิดนั้นจะต้องมีพลังออกมาและส่งผลไปยังความรู้สึกนึก คิดของคนที่คุณอยากให้มาดูหนังของคุณ ให้เขาหัวเราะ,ร้องไห้ หรือฮึกเหิมเปี่ยมด้วยกำลังใจ จนกระทั่งเมื่อหนังจบก็ได้ซึบซับเอาสาระต่างๆ ที่คุณสอดแทรกเอาไว้ในหนังไปโดยไม่รู้ตัว รวมไปถึงเชื่อมั่นในตัวเองว่าเรื่องที่กำลังทำอยู่นั้นน่าสนใจจริงๆ และเชื่อว่ามันได้กลั่นกรองมาจากก้นบึ้งของหัวใจคุณแล้วจริงๆ การมีความเชื่อเช่นนี้ คุณสามารถทำหนังอะไรก็ได้ทุกแบบครับ ตามรูปแบบข้างต้นก็จะตั้งแต่ข้อ 1 ถึง 3 นั่นแหละ คือ แม้แต่เรื่องที่แต่งด้วยจินตนาการของคุณ สร้างโลกอุปโลกน์ขึ้นมาจากอากาศธาตุ ถ้าคุณทำหนังอย่าง Lord of the ring เมื่อคุณมีความเชื่อ คุณก็สามารถทำให้คนอื่นเชื่อได้ว่ามัจฉิมโลกมีอยู่จริง แต่...สุดท้ายก็ต้องมีคำว่าแต่ การมีประสบการณ์ร่วมหรือการมีความเชื่อในเรื่องที่จะเล่าอย่างเต็มเปี่ยม ก็อาจจะไม่ได้ทำให้คุณสามารถทำหนังในแบบที่คุณอยากทำได้อย่างสมบูรณ์พร้อม โดยแท้จริง เพราะอะไรน่ะเหรอครับ ก็เพราะความเป็นจริงอย่างไรล่ะ
ความ เป็นจริงจากปัจจัยรอบๆ ตัวคุณ เช่น คุณมีกล้อง มีไมค์บูมสำหรับอัดเสียง มีทีมงานสองสามคน มีบ้านหนึ่งหลัง และเพื่อนอีกไม่กี่คนที่พร้อมจะแสดงให้ ข้อจำกัดมากมายมักชอบมาบีบให้ความคิดสร้างสรรค์ของคนทำหนังต้องหดแคบลง อย่างเช่น หากคุณเล่าเรื่องของตัวเอง และมีฉากที่คุณอยู่ในงานฉลองปีใหม่และเป็นฉากสำคัญต่อเรื่อง เพราะในฉากนี้คุณจะต้องโดนหักอกในขณะเดียวกันคุณก็จะพบรักใหม่ แต่คุณกำลังถ่ายหนังช่วงกลางปี และไม่อาจจะรออีก 6 เดือนเพื่อถ่ายฉากนี้ได้ เพราะนักแสดงอาจจะตัดผม อาจจะไปเรียนต่อเมืองนอก และงบประมาณการสร้างอาจจะถูกใช้หมดไปเสียก่อน แล้วที่นี่จะทำไงดีล่ะ
ก็ มาสู่ข้อเท็จจริงที่ว่า บางครั้งคนทำหนังที่ดีก็ต้องคิดเรื่องและเขียนบทให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และข้อจำกัด ในขณะที่ก็ยังสะท้อนตัวตนและเล่าเรื่องในแบบที่อยากเล่าได้ สามารถรักษาสมดุลของตาชั่งทั้งสองข้าง ผมเองขอยอมรับว่ามันอาจจะเป็นเรื่องยากเสียหน่อย แต่ถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้นที่จะต้องทำน่ะครับ แปลว่าเมื่อเริ่มต้นทำหนังสั้นเรื่องแรก ความ “เอาแต่ใจตัวเอง” และความยึดมั่นถือมั่นในการจะเห็นในสิ่งที่อยากเห็นปรากฏบนหนังตนเอง หรือใส่สิ่งที่ชอบลงไปในเนื้องานของผู้กำกับไม่ควรมีมากจนเกินไป
จากโครงเรื่องเดินสู่การเป็นบท
เมื่อ สามารถคิดและเขียนเรื่องโดยรู้จักที่จะประนีประนอมกับตัวเองได้แล้ว ก็มาสู่ขั้นการเขียนบท ทุกอย่างในขั้นตอนนี้จะง่ายขึ้นเมื่อคุณมีโครงเรื่องที่เรียบร้อยดีอยู่แล้ว คุณก็แค่ยึดเอาโครงเรื่องนี้มาไว้กับตัว และจำหลักการง่ายๆ ดังต่อไปนี้ที่คุณควรจะยึดติดเอาไว้
1.จำไว้เสมอว่าตัวเองกำลังเล่า เรื่องเกี่ยวกับอะไร หมายความว่าพยายามยึดเรื่องให้อยู่กับประเด็นหลักเอาไว้ เพราะว่ามีคนทำหนังมากมายที่หลงทางไปกับประเด็นแยกย่อย หรือเพิ่มเติมเนื้อหาบางอย่างเข้าไปทั้งๆ ที่มันไม่ได้ส่งผลใดๆ กับเรื่องราวที่กำลังเล่าอยู่เลย ยิ่งเป็นหนังสั้นด้วยแล้ว การเดินเข้าสู่ประเด็นหลักอย่างมั่นคงยิ่งเป็นเรื่องจำเป็น
ยก ตัวอย่าง ถ้าคุณกำลังเล่าเรื่องของชายคนหนึ่งที่ตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่ง และจีบเธอโดยการส่งดอกไม้ทุกวัน คุณอาจจะขยายเรื่องราวว่า ชีวิตชายหนุ่มคนนี้เป็นอย่างไร เพื่ออธิบายว่าทำไมเขาถึงมาชอบหญิงสาวคนนี้ และอาจจะอธิบายเกี่ยวกับตัวหญิงสาวได้ว่า ชีวิตของเธอเป็นอย่างไรและทำไมเธอถึงกลายมาเป็นคนที่ชายหนุ่มหลงรัก แต่เรื่องจะหลงทางทันทีหากคุณไปเล่าเรื่องของแม่พระเอก หรือพ่อของนางเอก โดยที่มันไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อการที่พระเอกตามจีบนางเอก เว้นแต่ว่าจะเป็นเรื่องความรักของรุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับความรักของรุ่นลูกด้วยได้
การเล่าเรื่อง ที่ออกนอกประเด็นนั้นจะนำพามาทั้งความสับสนแก่คนดูว่า ตกลงแล้วคนทำหนังพยายามจะบอกอะไรกันแน่ ยังอาจจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายเล็กน้อยขึ้นมาอีกด้วย การแก้ปัญหาตรงนี้นอกจากจะขึ้นอยู่กับการวางโครงเรื่องรัดกุมแล้ว ยังอยู่ที่การเขียนบทที่มีสมาธิอีกด้วย
2. เดินเรื่องไปข้างหน้าอยู่ตลอด อย่างที่เกริ่นไว้ในหัวข้อการคิดเรื่อง การที่ทำให้เรื่องเดินหน้าไปตลอดนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหนังที่ต้องการให้คนดูได้รับความบันเทิง ยกตัวอย่างเช่น หากเราปูเรื่องไว้แล้วว่าพระเอกทำงานออฟฟิตที่น่าเบื่อหน่าย เพื่อนๆ ไม่ชอบหน้าเขา การบอกเล่าตรงนี้ควรจะเป็นแค่ครั้งหรือสองครั้งก็ได้ แต่หากมีบ่อยๆ ซ้ำๆ เกินควรอาจจะทำให้คนดูรู้สึกเบื่อหน่ายเรื่องที่กำลังดูอยู่ และพาลหมดความสนใจแก่ตัวหนังทั้งเรื่องไปได้
3.การยึดหลัก 3 องค์ ปรกติถ้าเป็นตำราเขียนบท เรื่องของ 3 องค์มักจะมาเป็นลำดับแรก แต่สำหรับผม ผมมองว่าเรื่องของโครงสร้างการเขียนบทนั้น มันยังจำเป็นน้อยกว่า 2 หัวข้อก่อนหน้านี้ หลัก 3 องค์ที่ว่าซึ่งคนที่เรียนเขียนบทหนังหรือบทละครมาก็คงจะรู้จักกันดีนะครับ
องค์ แรกก็คือการปูเรื่อง เปิดตัวละคร จนเกิดเหตุการณ์พลิกผันกับตัวละคร นำไปสู่องค์ที่ 2 เช่น พระเอกเป็นพนักงานออฟฟิตธรรมดา โดยเจ้านายกดขี่ แฟนแอบนอกใจไปเป็นชู้กับเพื่อน แล้วจู่ๆ ก็มีคนเดินมาบอกว่า เขาคือสุดยอดนักฆ่าที่มีพลังมหาศาล และอยากชวนเขาเข้าร่วมองค์กร และพระเอกได้เจอฝ่ายเหล่าร้ายตามไล่ล่า จนตัดสินใจว่าจะต้องเข้าร่วมกับองค์กรนี้
องค์ที่สองก็คือส่วนกลาง เรื่อง เล่าเรื่องที่ปูไปสุดจุดหักเหอีกครั้งก่อนจะเข้าส่ climax (ช่วงจบ) ตัวอย่างเช่น พระเอกมาฝึกฝนการต่อสู้กับองค์กรที่ชวนเขามาเข้าพวกจนสำเร็จสุดยอดวิชา แต่กลายเป็นว่าองค์กรนี้แท้จริงชั่วร้าย เลยต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรระหว่างหนีไปหรือทำลายองค์กรนี้
องค์ ที่สามก็คือบทสรุปของเรื่องน่ะแหละครับ ตัวอย่างก็เช่น พระเอกตัดสินใจจะไม่หนีและสู้กับองค์กรร้าย การต่อสู้ดุเดือดเลือดพล่านแต่สุดท้ายพระเอกก็เป็นฝ่ายกุมชัยชนะ เรื่องจบลงโดยการที่พระเอกตัดสินใจใช้ความสามารถของตนผดุงคุณธรรม
คุณ สามารถนำหลัก 3 องค์ไปปรับใช้ได้กับการเล่าเรื่องทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะโรแมนติก สยองขวัญ หรือหนังแอ็คชั่นเลือดท่วม จนเมื่อคุณแม่นกับการทำหนังตามหลัก 3 องค์แล้ว คุณก็สามารถจะ “แหกกฎ” โดยการไม่ทำตามนี้เลยก็ได้ เพราะมันอาจจะนำมาซึ่งสิ่งแปลกใหม่และสร้างสรรค์ แต่ก่อนหน้านั้น มันก็เหมือนกับที่เขาว่ากันว่า ก่อนจะวิ่งได้ต้องหัดเดินก่อนน่ะแหละครับ เพราะถ้าเกิดยังเดินไม่ได้แล้วมาวิ่งเลยนี่ โอกาสที่จะสะดุดหกล้มหัวคะมำก็เป็นไปได้สูงทีเดียว
4. เขียนให้คนอื่นๆ สามารถเห็นภาพตามไปด้วยได้ คนทำหนังทุกคนไม่ควรทำหนังคนเดียวครับ เพราะว่ามันเป็นไปได้ยากเหลือเกินที่จะสามารถทำเช่นนั้นได้เพราะไหนจะต้องมี สมาธิกับการกำกับ มีสมาธิว่าต่อไปจะต้องถ่ายฉากอะไรต่อ จะพักกินข้าวตอนไหน จะวางมุมกล้องยังไง ฯลฯ สารพัดครับ การเขียนบทที่สามารถทำให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจได้ง่าย มองเห็นภาพในหนังได้ตรงกัน และทำให้การทำงานง่ายขึ้น
แต่ถ้าถามว่า เขียนอย่างไรถึงจะให้เป็นเช่นนั้นได้ อธิบายง่ายๆ เลยนะครับ ก็คือ อย่างเช่น ฉากที่พระเอกเดินเข้ามาในห้อง มันอาจจะมีรายละเอียดด้วยว่า “พระเอกเปิดประตูเข้ามาในห้อง เดินเข้ามาแล้วก็ปิดประตู จากนั้นก็เดินผ่านกองหนังสือเก่าที่วางระเกะระกะ ตรงเข้าไปนั่งที่โซฟาสีน้ำเงิน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากประตูสักเท่าไหร่ ข้างๆ โซฟามีหน้าต่าง มองออกไปเห็นท้องฟ้าสีคราม พระเอกเมื่อนั่งลงแล้ว เขาก็นั่งนิ่งไม่ได้ทำอะไร”
ถ้าเพื่อนร่วมทีมมาอ่าน คนที่ต้องมาจัดของประกอบฉากก็จะสามารถมองออกว่า ต้องมีอะไรอยู่ในฉากบ้าง (เช่น หนังสือเก่าและโซฟา) และนักแสดงก็จะรู้ว่าตัวเองจะต้องทำอะไรบ้าง อาจจะต้องอาศัยการกำกับเพื่อให้นักแสดงเข้าใจบทขึ้นมาอีกนิดหน่อย แต่ก็ถือว่าบทช่วยลดขั้นตอนต่างๆ ลงไปได้เยอะทีเดียว
เมื่อเขียนบท เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มาสู่สิ่งสำคัญเรื่องต่อไปที่คุณจะต้องทำเพื่อให้ได้หนังสั้นหนึ่งเรื่อง นั้นคือ ทุน อุปกรณ์ และกำลังคน… (ติดตามตอนต่อไป)
_________________
ข้อมูลจาก www.thaishortfilm.com